ภาษารามัญ ที่ฐาน พระสัมพุทธพรรณี องค์พระประธาน วัดราชาธิวาสวิหาร

ภาษารามัญ ที่ฐาน พระสัมพุทธพรรณี องค์พระประธาน วัดราชาธิวาสวิหาร ซึ่ง จารึกพระบาลีด้วยอักษรรามัญว่า

“สุทฺธานนฺตทยาญาโณ 
โคตโม สากยปุงฺคโว
พุทฺโธว ติฏฺฐตุ พิมฺพํ 
สมฺพุทฺธ วณฺณินามิทํ”

อ่านออกเสียงเป็นรามัญว่า

“เซาะเธี่ยนนต่ะเตี่ยะเยียเหญี่ยเน่อว 
เก่อวต่ะเม่อวซาก่ะเยี่ยะปุงเกี่ยะเว่อ
ปุ๊ดเธ่อวเวี่ยะต๊อยถะเต๊าะปิมปอง
ซอมปุดเธี่ยะว่นนินามอยต่ง”

 พระสัมพุทธพรรณี องค์จำลอง ประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร เป็นพระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์ ปางสมาธิ ราบ ขนาดหน้าตักกว้าง 20 นิ้ว วัสดุโลหะกะไหล่ทอง จำลองจากพระสัมพุทธพรรณีองค์ที่ประดิษ ฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

เหตุแห่งการหล่อพระสัมพุทธพรรณีองค์จำลอง ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปรารภจะทรงสถาปนาวัดราชาธิวาสวิหารที่รกร้างชำรุดทรุดโทรมให้เป็นพระอารามที่งามยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน มีพระราชประสงค์ที่จะได้พระพุทธรูปมาประดิษฐานในพระอุโบสถ พระราชดำริว่า

พระอารามแห่งนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดา เสด็จมาประทับเมื่อครั้งทรงผนวชและได้สถาปนาธรรมยุติกนิกายขึ้น เมื่อประทับจำพรรษาอยู่ในพระอาราม ได้ทรงหล่อพระพุทธรูปองค์หนึ่ง โดยโปรดให้ช่างหล่อในพุทธลักษณะที่ทรงเห็นควรจะเป็น คือไม่มีพระเกตุมาลา แล้วทรงบรรจุดวงพระชะตา พระสุพรรณบัตรเดิม และพระบรมสารีริกธาตุไว้ในองค์พระ พระราชทานนามว่า “พระสัมพุทธพรรณี” ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์นี้ไว้ที่พระตำหนัก ภายหลังเมื่อทรงย้ายไปประทับยังวัดบวรนิเวศฯ ก็โปรดให้เชิญไปด้วย ครั้นเมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติบรมราชาภิเษกแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญไปประดิษฐานไว้บนฐานชุกชีด้านหน้า ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

ดังนั้นเพื่อทรงนมัสการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเพื่ออุทิศเป็นพระราชกุศลถวายแด่พระราชบิดา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริว่า “พระสัมพุทธพรรณีเปน พระซึ่งทูลกระหม่อมทรงสร้างขึ้นในวัดราชาธิวาส ประจุพระสุพรรณบัตร และดวงพระชันษา เปนพระที่สมควรจะอยู่ในวัดนี้ แต่องค์เดิมที่จะเชิญกลับออกมาไม่ได้เปนอันขาด จึงเห็นควรจะหล่อจำลองขึ้นใหม่” (พระราชหัตถเลขา ๒๕๑๔, ๑๙๖-๑๙๗)

ในปี พ.ศ.2451 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ พระวรวงศ์เธอพระองค์ เจ้าประดิษฐวรการ ออกแบบปั้น โดยถ่ายแบบจากพระสัมพุทธพรรณีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อหล่อสำเร็จ ทรงประกอบพิธีกะไหล่ทอง และให้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุใน พระศก แล้วสมโภช แต่พระองค์เสด็จสวรรคตก่อนที่จะประดิษฐานพระพุทธรูปในพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงอัญเชิญพระสัมพุทธพรรณีจำลองไปประดิษฐานในพระอุโบสถวัดราชาธิวาสวิหารตามพระราชจำนง ในปี พ.ศ.2462 พร้อมกับบรรจุพระราชสรีรางคารสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชชนนี พระพันปีหลวง ใต้พุทธบัลลังก์ด้วย

ย้อนไปครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดฯ ให้ปั้น ทรงให้ช่างปั้นหุ่นถ่ายแบบอย่างพระสัมพุทธพรรณีองค์นี้ขึ้นใหม่ พระสัมพุทธพรรณีหล่อใหม่สำหรับวัดราชาธิวาสมีแบบอย่างพุทธลักษณะเช่นเดียวกับพระสัมพุทธพรรณีองค์เดิมที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสอบสวนได้ คือ ไม่มีพระเกตุมาลา พระจีวรเป็นริ้วเช่นเดียวกับการครองผ้าของพระภิกษุ พระเกตุมาลาซึ่งไม่ปรากฏนี้ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าประดิษฐวรการได้ทรงแก้ไขแบบให้มีพระรัศมีขึ้นเหนือยอดพระเศียร

และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระรัศมีถวายเป็นพุทธบูชา 4 องค์ คือ พระรัศมีสำริดกะไหล่ทอง พระรัศมีนาก พระพระรัศมีแก้วขาว และพระรัศมีแก้วน้ำเงิน นอกจากนั้นยังได้ทรงกำหนดให้มีการเปลี่ยนพระรัศมีของพระสัมพุทธพรรณีตามฤดูกาลเช่นเดียวและพร้อมกันกับการเปลี่ยนเครื่องทรงของพระแก้วมรกตด้วย โดยทรงกำหนดให้พระรัศมีสำริดกะไหล่ทองใช้สำหรับฤดูร้อน พระรัศมีแก้วสีน้ำเงินสำหรับฤดูฝน และพระรัศมีนาก หรือแก้วขาว สำหรับฤดูหนาว